ก.ล.ต. กับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล

20 พฤษภาคม 2568
อ่าน 4 นาที



สินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ คริปโทเคอร์เรนซี และ โทเคนดิจิทัล ซึ่งมีลักษณะและการกำกับดูแลที่แตกต่างกัน

  1. คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน เช่น บิทคอยน์ อีเธอเรียม เป็นต้น รวมทั้งคริปโทเคอร์เรนซีที่มีการตรึงมูลค่า (peg) ไว้กับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เช่น ทองคำ สกุลเงินต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า “stablecoin”
  2. โทเคนดิจิทัล (digital token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือเหรียญ โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ Investment Token และ Utility Token
       2.1 investment token ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ
       2.2 utility token ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง โดย utility token ยังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ “utility token ไม่พร้อมใช้” และ “utility token พร้อมใช้”
            • utility token ไม่พร้อมใช้ คือ โทเคนที่ยังไม่พร้อมให้ใช้สิทธิแลกหรือใช้ประโยชน์สินค้าหรือบริการนั้น ต้องรอใช้สิทธิในอนาคต เพราะจะต้องนำเงินที่ได้จากการขาย utility token ไปจัดหาสินค้าหรือพัฒนาบริการให้เสร็จก่อน
            • utility token พร้อมใช้ คือ โทเคนที่สามารถใช้สิทธิแลกหรือใช้บริการได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก เช่น บัตรกำนัลดิจิทัล การกดดาวหรือของขวัญให้ Influencer หรือ Youtuber รวมถึงโทเคนที่ให้สิทธิในงานศิลปะในรูปแบบ non-fungible token (NFT) ซึ่งมีการให้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ถือ NFT

 ก.ล.ต. กำกับดูแล “สินทรัพย์ดิจิทัล” อย่างไร
ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้ ก.ล.ต. กำกับดูแลการออกเสนอขาย “investment token” และ “utility token ไม่พร้อมใช้ และ พร้อมใช้บางประเภท” เนื่องจากมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนเช่นเดียวกับหลักทรัพย์ มีการให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนในโครงการ และมีความผูกพันในทางกฎหมายระหว่างผู้ออกและผู้ถือโทเคนดิจิทัล โดยผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Issuer) จะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. มีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.

 ในปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. มีอยู่ 6 ประเภท คือ
  1. ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange)
  2. นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker)
  3. ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer)
  4. ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Advisory Service)
  5. ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Manager )
  6. ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodial Wallet Provider)

 ก.ล.ต. ไม่ได้กำกับดูแลอะไร
การออกเสนอขายคริปโทเคอร์เรนซี และstable coin ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน ไม่ได้มีโครงการหรือกิจการใด ๆ รองรับนั้น ก.ล.ต. ไม่ได้กำกับดูแลการออกเสนอขายคริปโทเคอร์เรนซี แต่จะกำกับดูแลการทำหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีแทน